“ภัยเงียบพึงระวัง…โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก”

 อ.พญ.สุนันท์ องอาจ

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกอีกหนึ่งโรคร้ายที่เป็นภัยเงียบ ต้องพึงระวัง เพราะกว่าจะรู้ตัวอาจช้าเกินไป ฉะนั้นเราควรมารู้จักและสังเกตอาการของโรคนี้กัน
โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกมีหลายปัจจัยร่วมและยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติและถิ่นที่อยู่อาศัยโดยพบมากทางตอนใต้ของประเทศจีนและฮ่องกง ซึ่งสถิติพบผู้ป่วยได้สูงถึง 25 คนต่อประชากร 100,000 คนในแต่ละปี ส่วนไทยและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตำแหน่งที่พบผู้ป่วยรองลงมา โดยในถิ่นที่มีความชุกของโรคสูงจะพบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส Ebstein – Barr โดยทั่วไปโรคนี้พบในเพศชายได้สูงกว่าหญิงได้ 2 – 3 เท่า และมักพบในคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

 

การรับประทานอาหารที่มีสารไนโตรซามีน ซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์ อาหารหมักดอง เช่น ไส้กรอก แหนม ปลาร้า ปลาเค็ม และอาหารปิ้งย่าง รมควัน หรือการได้รับสารระคายเคืองเรื้อรัง เช่น สารระเหย ควันเขม่า ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงด้วย ส่วนในแถบที่ความชุกโรคไม่สูง เช่น ยุโรปหรืออเมริกา ความเสี่ยงโรคจะอยู่ในคนที่ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่เหมือนปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งบริเวณตำแหน่งอื่นๆ ของศีรษะและลำคอ

 

อาการที่พบ ผู้ป่วยอาจมีหูอื้อข้างเดียว มีเสียงดังในหู คัดแน่นจมูก มีเสมหะปนเลือด มีกลิ่นปากเหม็น เมื่อโรคมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้คลำได้ก้อนที่คอ ข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ เนื่องจากตำแหน่งของโพรงหลังจมูกอยู่ติดกับฐานสมอง ทำให้โรคสามารถลุกลามเข้าเส้นประสาทสมองหรือเข้าสมอง ทำให้ปวดศีรษะ หน้าชาด้านใดด้านหนึ่ง หรือเกิดการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อน ตาเหล่ได้

 

ในการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะเริ่มจากซักประวัติ ตรวจโพรงหลังจมูก และตรวจโดยการส่องกล้องทางจมูก ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ และอาจตรวจหาเชื้อไวรัส Ebstein – barr จากนั้นจะหาระยะโรคโดยตรวจทางรังสี เช่น CT scan หรือ MRI บริเวณโพรงหลังจมูก และบริเวณลำคอ ร่วมกับหาการแพร่กระจายของโรค โดยเอกซเรย์ปอด ตรวจอัลตราซาวด์ตับและช่องท้อง ร่วมกับตรวจการกระจายเข้าสู่กระดูก หรือ bone scan

 

โดยทั่วไปการรักษาหลัก คือ การฉายแสงและอาจร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ส่วนการผ่าตัดมีบทบาทน้อยเนื่องจากตำแหน่งของโรคอยู่ติดกับอวัยวะสำคัญ เช่น เส้นประสาทสมอง เส้นเลือดแดงใหญ่ในสมองและส่วนเนื้อสมอง ทำให้การผ่าตัดก่อให้เกิดอันตรายและความพิการมาก ประกอบกับเซลล์ของมะเร็งส่วนใหญ่จะตอบสนองดีต่อการฉายแสง ทำให้การผ่าตัดมีบทบาทในกรณีหลังรักษาแล้วแต่ยังคงมีเนื้อมะเร็งเหลือค้างอยู่

 

หลังได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีภาวะกลืนลำบาก รับประทานอาหารไม่อร่อยและอาจพูดไม่คล่องหรือไม่ชัดเหมือนเดิม เนื่องจากน้ำลายผลิตได้น้อย เยื่อบุผิวภายในช่องปากอักเสบ และอาจเกิดฟันผุร่วมด้วย ดังนั้นผู้ป่วยควรดื่มน้ำบ่อย ๆ เลือกอาหารที่อ่อนนิ่ม มีประโยชน์ รสชาติไม่จัด และที่สำคัญกำลังใจของครอบครัวมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยผ่านภาวะยากลำบากนี้ไปได้  แต่ถ้าดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค หรือถ้าเป็นแล้วให้สามารถตรวจพบในระยะแรก ๆ ก็จะช่วยให้มีโอกาสหายขาดสูง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศริริราชพยาบาล

สอบถามเพิ่มเติม