๖ เมษายน
วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

.
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน บริษัท เอเรคี จำกัด

วันจักรี 6 เมษายน รำลึกพระราชวงศ์จักรี สถาปนากรุงเทพฯเป็นเมืองหลวง
.
เปิดความเป็นมา “วันจักรี” 6 เมษายน รำลึกพระราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย

วันจักรี คือ วันอะไร
วันจักรี ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมราชวงศ์จักรี เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูป ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาทเป็นต้น

ในรัชกาลที่ 6 โปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ 6 โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว

การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี”

ความเป็นมาของวันจักรี

วันจักรี สืบเนื่องจากรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชดำริว่าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปลักษณะเหมือนพระองค์จริงฉลองพระองค์แบบไทย ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บริเวณศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน) เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปฐมบรมราชบุพการี

แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เชิญพระบรมรูปทั้ง 4 รัชกาลนั้น ประดิษฐานเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ สำหรับถวายบังคมสักการะในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีพระชนมพรรษา

ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสืบราชสันติวงศ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถ จากต่างประเทศ แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปทั้ง 4 รัชกาลนั้น

ต่อมาทรงพระราชดำริว่าพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทยังไม่เหมาะสมที่จะมีงานถวายบังคมสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง 5 รัชกาล

พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร โดยทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงมีพระเดชพระคุณต่อประเทศ เมื่อมีโอกาสก็ควรแสดงความเชิดชูและระลึกถึง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2461 อันเป็นดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จกรีธาทัพถึงพระนคร

ได้รับอันเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระกรัณฑ์ทองคำลงยาราชาวดีซึ่งบรรจุพระบรมทนต์ (ฟัน) พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลครั้นถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2461 (สมัยนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ประกาศพระบรมราชโองการให้มีการกราบ ถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเป็นการ ประจำปีกำหนดใน วันที่ 6 เมษายน เป็นประเพณีสืบไป

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวณ โรงหล่อกรมศิลปากร ครั้นตกแต่งพระบรมรูปเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดการพระราชพิธีประดิษฐาน พระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดร

โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมทนต์พระสุพรรณบัฎจารึกพระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา แล้วทรงบรรจุที่เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูป เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2470

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า ในปี 2475 อายุพระนครจะบรรจบครบ 150 ปี สมควรมีการสมโภชและสร้างสิ่งสำคัญ เป็นอนุสรณ์ขึ้นไว้ให้ปรากฎแก่อารยชนในนานาประเทศว่าชาวไทยมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษที่ได้สร้างกรุงเทพฯเป็นราชธานี

แล้วบำรุงรักษาประเทศ ให้เป็นอิสระสืบมาทรงปรึกษาพระราชปรารภ แก่อภิรัฐมนตรีและเสนาบดี ซึ่งเห็นชอบด้วยพระราชดำริว่า ควรสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์มี 2 สิ่งประกอบกัน คือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์ และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพระนครธนบุรี พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ ให้ศาสตรจารย์ศิลปพีระศรี ปั้นหุ่นหล่อ ส่วนสะพานทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธินอำนวยการสร้าง และพระราชทานนามว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า

เงินที่ใช้ในการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ส่วน 1 รัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินส่วน 1 อีกส่วน 1 ทรงพระราชดำริให้บอกบุญเรี่ยไรชาวไทยทุกคน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยกระบวนพยุหยาตรา เมื่อ วันที่ 6 เมษายน 2475 ซึ่งเป็นวันครบ 150 ปี และมีการพระราชพิธี เฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร

กิจกรรมที่ปฏิบัติ
ในวันจักรี จะมีกิจกรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาคือ การวางพวงมาลา พิธีถวายราชสักการะสดุดี การวางพานพุ่มดอกไม้ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ครม. เคาะ 6 เม.ย. เป็นวันหยุด
สำหรับวันที่ 6 เมษายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบให้เป็นหนึ่งในหยุดราชการประจำปี 2565

อ้างอิงโดย : https://www.prachachat.net/general/news-903911

❤️สอบถามเพิ่มเติม ปรึกษาการสร้างแบรนด์❤️
📮 E-Mail | GREENTECHBIOLAB@GMAIL.COM
🚩INBOX | m.me/greentechthailand
☎️ TEL | 082-326-5225,074-892897
📲 Line Official | @GREENTECHBIOLAB (มี @ ด้วยนะคะ)
สแกนคิวอาร์โค้ด https://lin.ee/w6DN7Ob

สนใจสารสกัดใกล้เคียง สามารถเข้าไปอ่านบทความอื่นๆ ที่ คลิ๊ก
For further information or interested to OEM Cosmetics, please visit: www.greentechbiolab.com
สอบถามเพิ่มเติม